ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino)
มีหลักฐานแสดงว่าเอลนีโญได้เกิดขึ้นนานนับพันปีมาแล้ว แต่เริ่มมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในช่วงศตวรรษนี้เป็นผลให้ปรากฏการณ์นี้เป็นต้นเหตุให้เกิดผลกระทบต่อภูมิอากาศของโลกอย่างรุนแรง เช่น อเมริกาเหนือประสบกับสภาพอากาศที่ผิดปกติอย่างมากตลอดปี 2526 ออสเตรเลียประสบกับสภาวะความแห้งแล้งมากและเกิดไฟป่าเผาผลาญเสียหายประเทศใกล้ ๆ ทะเลทรายซาฮาราประสบกับความแห้งแล้งที่เลวร้ายมากที่สุดช่วงหนึ่ง และลมมรสุมในมหาสมุทรอินเดียอ่อนกำลังลงมาก ประมาณว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดอยู่ระหว่าง 8 - 13 พันล้านเหรียญสหรัฐ และสูญเสียชีวิตประมาณ 2,000 คน “เอลนีโญ” ภาษาสเปน หมายถึง เด็กชาย ซึ่งปรากฏการณ์นี้ มักจะเกิดประมาณช่วงเทศกาลคริสต์มาส จึงให้ความหมายว่า “บุตรของพระคริสต์” ปรากฏการณ์นี้จะยืดเยื้อต่อไปอีกประมาณ 2 - 3 เดือน หรือ ช่วงฤดูร้อนของซีกโลกใต้ (ดวงอาทิตย์ส่องตั้งฉากกับผิวโลกที่ละติจูด 23.5 องศาใต้) เพราะช่วงนี้ลมสินค้าตะวันออกเฉียงใต้ ในซีกโลกใต้บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกมักจะมีกำลังอ่อน
ตามปกติ บริเวณชายฝั่งประเทศเปรูซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ หรือทางด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ใกล้เส้นศูนย์สูตร จะมีน้ำเย็นใต้มหาสมุทรพัดขึ้นมายังผิวน้ำ กระบวนการนี้คือการพัดขึ้นมาแทนที่ของกระแสน้ำเย็นจากใต้มหาสมุทรขึ้นมาตามบริเวณชายฝั่งอันเป็นผลเกิดจากลมสินค้าตะวันออกเฉียงใต้ที่มีกำลังแรงพัดขนานฝั่งบวกกับการหมุนรอบตัวเองของโลก ขณะที่ลมบวกกับการหมุนของโลกผลักดันให้ผิวน้ำเบื้องบนที่อุ่นพัดห่างจากฝั่งไป น้ำเย็นข้างล่างที่อุดมด้วยแร่ธาตุอาหารสำหรับแพลงก์ตอนพืชจะพัดขึ้นมาแทนที่ผิวน้ำอุ่นที่ถูกพัดพาไป บริเวณชายฝั่งที่มีกระแสน้ำเย็นพัดขึ้นมาแทนที่จะเป็นบริเวณที่เหมาะที่สุดสำหรับการเจริญพันธุ์ของปลาทะเล ทั่วโลกจะมีบริเวณเช่นนี้อยู่ 5 บริเวณใหญ่ๆ (ภาพที่ 1 ) คือ
1. บริเวณชายฝั่งรัฐแคลิฟอร์เนีย (ชายฝั่งด้านตะวันตกของประเทศสหรัฐอเมริกา)
2. ชายฝั่งประเทศเปรู (ชายฝั่งด้านตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้)
3. ชายฝั่งประเทศนามิเบีย (ชายฝั่งด้านตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกา)
4. ชายฝั่งประเทศโมริตาเนีย (ชายฝั่งด้านตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา)
5. ชายฝั่งประเทศโซมาเลีย (ชายฝั่งด้านตะวันออกของทวีปแอฟริกา)
รูปที่ 1 บริเวณกระแสน้ำเย็นที่พัดตามบริเวณชายฝั่งต่าง ๆ ของโลกและระบบความกดอากาศระดับน้ำทะเล
ซึ่งมีอิทธิพลต่อกระแสน้ำเย็นเหล่านี้
ซึ่งมีอิทธิพลต่อกระแสน้ำเย็นเหล่านี้
ปกติลมสินค้าตะวันออกเฉียงใต้จะพัดอยู่เป็นประจำบริเวณเขตร้อนในซีกโลกใต้ (ระหว่างเส้นศูนย์สูตรและละติจูด 30 องศาใต้) (ภาพที่ 2) การไหลของกระแสน้ำโดยปกติจะเคลื่อนที่ตามทิศทางลม เป็นผลให้กระแสน้ำหรือคลื่นเคลื่อนที่จากชายฝั่งประเทศเปรู ไปยังฝั่งแปซิฟิกตะวันตกหรือฝั่งออสเตรเลีย อินโดนีเซีย คลื่นที่เคลื่อนที่ไปใกล้ชายฝั่งประเทศอินโดนีเซียจะชะลอความเร็วลง เนื่องจากมีแรงต้านจากฝั่ง แต่คลื่นที่อยู่กลางมหาสมุทรยังคงมีความเร็วมากกว่าจึงเคลื่อนที่ขึ้นมาหนุนหน้าคลื่นเดิมทำให้ระดับน้ำทะเลบริเวณแปซิฟิกตะวันตกมีระดับสูงกว่าฝั่งแปซิฟิกตะวันออก (ภาพที่ 2) ซึ่งผลจากการเคลื่อนที่ของคลื่นดังกล่าวทำให้สภาพอากาศบริเวณฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก (ประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ปาปัวนิวกินี) มีความชุ่มชื้น มีฝนตกชุก และในขณะที่ฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก (ประเทศเปรู เอควาดอร์ ชิลี) มีความอุดมสมบูรณ์สัตว์น้ำ เป็นผลจากกระแสน้ำเย็นข้างล่างที่อุดมด้วยแร่ธาตุอาหารปลาจะพัดขึ้นมาแทนที่ผิวน้ำอุ่นที่ถูกพัดพาไป ทำให้บริเวณชายฝั่งเป็นบริเวณที่เหมาะที่สุดสำหรับการเจริญพันธุ์ของปลาทะเล
รูปที่ 2 แสดงสภาพปกติของทิศทางลม ระดับความสูงของน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิก และสภาพอากาศบริเวณฝั่งตะวันออก
และตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก
จากที่กล่าวแล้วว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ เป็นปรากฏการณ์ที่มักจะเริ่มเกิดในเดือนธันวาคม (หลังเทศกาลคริสต์มาสเล็กน้อย) หรือ ช่วงฤดูร้อนของซีกโลกใต้ (ดวงอาทิตย์ส่องตั้งฉากกับผิวโลกที่ละติจูด 23.5 องศาใต้) ในพื้นที่ซีกโลกใต้ได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์มากกว่าปกติ ทำให้มีการระเหยของน้ำในปริมาณมาก อากาศ (ลม) จากพื้นที่ใกล้ๆ ที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า (ความกดอากาศสูง) จะเคลื่อนที่เข้ามาแทนเพื่อรักษาสมดุลของอากาศ ทำให้ลมสินค้าตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดอยู่บริเวณตะวันตกและตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิกใต้จะอ่อนกำลังลงหรือพัดกลับทิศตรงกันข้าม ซึ่งจะมีผลก่อให้เกิดคลื่นมหาสมุทรพัดพาไปในทิศตะวันออกสวนกับทิศลมเดิม (รูปที่ 3) เมื่อคลื่นนี้พัดพาไปถึงชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ (บริเวณประเทศเปรูใกล้กับเส้นศูนย์สูตร) ผิวน้ำทะเลที่อุ่นที่ถูกพัดพามาด้วยคลื่นก็จะแทนที่กระแสน้ำเย็นที่พัดขึ้นมาจากใต้มหาสมุทรซึ่งมีอยู่เดิมในบริเวณนี้ กระบวนการที่ผิวน้ำทะเลที่อุ่นพัดมาแทนที่กระแสน้ำเย็น เรียกว่าเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ
รูปที่ 3 ปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้ระดับน้ำทะเล และสภาพอากาศ เปลี่ยนแปลงไปจากสภาพปกติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น